วิตามินซีที่ดีที่สุด
3-O-Ethyl Ascorbic Acid วิตามินซีที่ดีที่สุด

3-O-Ethyl Ascorbic Acid วิตามินซีที่ดีที่สุด

ถ้าอยากหาเซรั่มเพื่อผิวกระจ่างใสสักตัว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วิตามินซี (Vitamin C) เป็นสิ่งแรกๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง เพราะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่นอกจากจะช่วยให้ผิวขาว กระจ่างใส ลดเลือนจุดด่างดำ ฝ้า กระ ต่างๆแล้ว ยังช่วย กระตุ้นการสร้างเส้นใยคอลลาเจน เพื่อลดลือนริ้วรอย ฟื้นฟูผิวไหม้ (sunburn) จากแสงแดด และช่วยลดการระคายเคืองได้อีกด้วย

วิตามินซีบริสุทธิ์หรือ Pure vitamin C ที่สามารถออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้ หรือสามารถนำมาใช้ในทางยา และเครื่องสำอางจะอยู่ในรูป L-Ascorbic Acid  ที่มีความไม่เสถียรและถูกออกซิไดซ์ได้ง่าย หรือไม่ทนต่อแสง อากาศ อุณหภูมิ และ pH จึงทำให้เสื่อมประสิทธิภาพได้ง่าย ดังนั้นในทางเครื่องสำอางจึงมักใช้อนุพันธ์วิตามินซี (Vitamin C derivatives) ที่มีความเสถียรมากกว่าแทน

Vitamin C derivatives มีหลากหลายโครงสร้าง ที่มักนิยมใช้คือ…

  • 3-O-Ethyl Ascorbic Acid
  • Ascorbic Acid 2-Glucoside หรือ Ascorbyl Glucoside
  • Sodium Ascorbyl Phosphate

โดยทั้ง 3 ตัวจะถูกเปลี่ยนเป็น L-Ascorbic Acid หรือรูปแบบที่สามารถออกฤทธิ์ได้เมื่อซึมลงสู่ผิว และถึงแม้ว่าจะให้คุณสมบัติที่เหมือนกัน แต่ด้วยโครงสร้างที่แตกต่างกันทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งสามารถเปรียบเทียบปัจจัยต่างๆ ได้ดังนี้

  • การทนต่อการเกิดออกซิเดชั่น (oxidation)

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าวิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง (antioxidant activity) หรือมีคุณสมบัติในการดักจับอนุมูลอิสระในร่างกาย แต่ตัวมันเองก็เสี่ยงต่อการถูกออกซิไดซ์จาก L-Ascorbic Acid เป็น Dehydroascorbic Acid ซึ่งจะทำให้เสื่อมสภาพได้ง่ายขึ้น

โดย Sodium Ascorbyl Phosphate (SAP) ถูกปรับมาให้เติมโซเดียมเข้าไปลดโอกาสถูกออกซิไดซ์ จึงมีความเสถียรมากกว่า L-Ascorbic Acid (LAA) ในขณะที่ 3-O-Ethyl Ascorbic Acid (3OAA) ถูกเติม Ethyl และ Ascorbic acid-2-glucoside (AA2G) ที่เป็นการเติมโมเลกุลน้ำตาลลงไปในตำแหน่งเดียวกัน เพื่อป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น ทำให้วิตามินซีมีความเสถียรมากขึ้น


  • การซึมผ่านสู่ผิว (Skin penetration)

L-Ascorbic Acid (LAA) มีลักษณะโครงสร้างเป็นแบบละลายน้ำ ทำให้ซึมผ่านลงสู่ผิวได้ไม่ดี ในขณะที่ Sodium Ascorbyl Phosphate (SAP) และ Ascorbic Acid 2-Glucoside (AA2G) ที่ถูกเพิ่มเพิ่มความเสถียร แต่ยังมีลักษณะละลายน้ำเหมือนกันจึงซึมผ่านลงสู่ผิวที่เป็นโครงสร้างของไขมันได้ยากนั่นเอง ในขณะที่ 3-O-Ethyl Ascorbic Acid (3OAA) ถูกปรับให้มีความสามารถละลายน้ำมันได้มากขึ้น คล้ายกับลักษณะโครงสร้างของผิว (Skin Barrier) ที่เป็นชั้นไขมัน จึงสามารถซึมลงสู่ผิวได้ดีกว่า

  • pH

L-Ascorbic Acid (LAA) ความเป็นกรดสูง (pH 3.5)ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวได้ในขณะที่ Ascorbyl Phosphate (SAP) มีความเป็นกลาง (pH 7) 3-O-Ethyl Ascorbic Acid (3OAA) มี pH 5 และ Ascorbic Acid 2-Glucoside (AA2G) ที่สามารถอยู่ได้ทั้งในสภาวะกรด กลาง และเบส (broad pH range) จึงทำให้ทั้ง 3-O-Ethyl Ascorbic Acid (3OAA) และ Ascorbic Acid 2-Glucoside (AA2G) เป็นที่นิยมเพราะสามารถนำมาใช้ผลิตเครื่องสำอางที่มี pH ใกล้เคียงกับผิว (pH 5.5) จึงช่วยลดการระคายเคืองผิวจากการใช้วิตามินซีได้

  • ความสามารถต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant capacity)

เมื่อทำการทดลองเปรียบเทียบความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ โดยวิธีการ DPPH Assay จะสามารถเรียงลำดับได้ว่า L-Ascorbic Acid (LAA) > 3-O-Ethyl Ascorbic Acid (3OAA)  > Ascorbyl Phosphate (SAP) > Ascorbic Acid 2-Glucoside (AA2G) ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปตอนต้นว่า L-Ascorbic Acid (LAA) มีความไม่เสถียร และถูกออกซิไดซ์ได้ง่าย จึงไม่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มของตัวอนุพันธ์แล้ว 3-O-Ethyl Ascorbic Acid (3OAA) มีความสามารถต้านอนุมูลอิสระดีที่สุด

และนี่คือเหตุผลว่าทำไม 3-O-Ethyl Ascorbic Acid (3OAA) เป็นอนุพันธ์วิตามินซีที่ดีที่สุด ด้วยคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าและสามารถซึมลงสู่ผิวได้ดีกว่าอนุพันธ์รูปแบบอื่นๆ รวมทั้งมี pH ที่ใกล้เคียงกับผิว จึงเป็นวิตามินซีที่เหมาะสมนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เพราะเมื่อเทียบกับวิตามินซีที่ซึมผ่านลงสู่ผิวไม่ดีก็ไม่สามารถออกฤทธิ์ในผิวได้ และถ้าไม่เสถียรหรือไม่ทนต่อสภาวะต่างๆ ก็ทำให้วิตามินซีเสื่อมสภาพก่อนถูกนำมาใช้ ต่อให้ใช้ผลิตภัณฑ์ราคาแพงแค่ไหนก็ได้ผลลัพธ์ที่ไม่คุ้มค่าแน่นอน

References

Silvia, S. Comparative study of ascorbic acid and derivatives with interest in anti-aging cosmetics.  Master in Pharmaceutical Technology. 2017 Sep. (1-150).

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล